24 ประวัติวัดทีปทุตตมาราม มหาวิหาร ศรีลังกา

24 ประวัติวัดทีปทุตตมาราม มหาวิหาร ศรีลังกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 7,232 view

 

(ภาพวาดพระองค์เจ้าปฤษฏางค์ผนวชเป็นพระภิกษุที่ฝาผนังวิหาร)

วัดทีปทุตตมาราม (Dipaduttamarama Purana Thai Raja Maha Viharaya) ตั้งอยู่ที่ Kotahena,Colombo13 เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงโคลัมโบสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2318 วัดนี้มีความสำคัญต่อชุมชนชาวพุทธในศรีลังกาเพราะเป็นที่จำพรรษาของ Ven. Migettuwatte Gunananda Maha Thero ซึ่งได้พัฒนาวัดในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2416 จนกลายเป็นวัดขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่สุดในประเทศในยุคนั้น โดยวัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกา และโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ นอกจากนี้ พระรูปดังกล่าวยังเป็นนักต่อสู้เพื่อพระพุทธศาสนาในยุคที่ศรีลังกาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ทั้งนี้ธงฉัพพรรณรังสี (ธงหกสี) ซึ่งเป็นธงพระพุทธศาสนาก็ได้รับการออกแบบโดยกลุ่มนักต้อสู้เพื่อปกป้องพุทธศาสนาและได้รับการชักขึเนเสาที่วัดแห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2428 ปัจจุบัน Ven. Waskaduwe Mahindawansa Maha Nayaka Thero ซึ่งเป็น Mahanayake Thera แห่ง Sambuddha Saddharmodhaya Maha Nikaya ซึ่งเป็นพุทธนิกายอมรปุระเป็นเจ้าอาวาสของวัด โดยพระรูปดังกล่าวยังเป็นเจ้าอาวาสวัด Sri Subhuthi Maha Viharaya เมือง Waskaduwa ด้วย

วัดทีปทุตตมารามเป็นวัดที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ลึกซึ้งกับประเทศไทยเนื่องจากพระชินวรวงศ์[1] (พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์) เคยเป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ. 2448-2453 และได้รับการสถาปนาเป็นสังฆนายกแห่งนครโคลัมโบของนิกายรามัญและอมรปุระ ซึ่งนับเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ก่อนที่จะทรงลาสิกขากลับประเทศไทย พระชินวรวงศ์ได้รับความเคารพจากชาวพุทธศรีลังกามากและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนในศรีลังกา ทรงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงและเด็กชาย มีชื่อตามลำดับว่า Gunananda Vidhayalaya และ Prince College

วัดทีปทุตตมารามมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ วิหารพระพุทธไสยาสน์ หอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และรัตนเจดีย์ ซึ่งเจดีย์นี้พระชินวรวงศ์เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2451 โดยเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างอินเดีย ศรีลังกาและไทย โดยยอดฉัตรรัตนเจดีย์ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์ระหว่างสยามกับศรีลังกา

พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ไทยหลายพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนวัดแห่งนี้

เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2482 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงปลูกต้นไม้มงคล คือ ต้นจันทน์ไว้เป็นที่ระลึก หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จ  พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนวัดนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกต้นจันทน์อีกต้นหนึ่งไว้คู่กัน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2542 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนวัดนี้ ทรงร่วมพิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และทรงปลูกต้นไม้มงคลไว้ 1 ต้น

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ Ven. Waskaduwe Mahindawansa Maha Nayaka Thero เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร แทนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสารีริกธาตุ

วัดทีปทุตตมารามได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินพระราชทานจำนวน 5 ครั้ง ในปี 2539 2543 2546 2548 และ 2551

เมื่อปี 2551 Ven. Waskaduwe Mahindawansa Maha Nayaka Thero ได้ขอความอนุเคราะห์รัฐบาลไทยในการบูรณะซ่อมแซมยอดฉัตรรัตนเจดีย์ที่ได้เสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา ต่อมาในปี 2552 กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนงบประมาณในการนำยอดฉัตรรัตนเจดีย์กลับไปบูรณะในไทยโดยผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร ต่อมาเมื่วันที่ 3 มี.ค. 2553 นายปิยวัตร นิยมฤกษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำคณะผู้เชี่ยวชาญมาติดตั้งยอดฉัตรรัตนเจดีย์และร่วมพิธีสมโภชยอดฉัตรฯ

ทั้งนี้ ในการบูรณะซ่อมแซม มีวัสดุคงเหลือ ได้แก่ ยอดฉัตรเดิมที่อยู่ในสภาพชำรุด วัสดุหักพังจากโครงยอดฉัตร และเศษผงทอง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้นำวัสดุคงเหลือดังกล่าวทำวัตถุมงคลเพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่เป็นองค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และเป็นกิจกรรมหนึ่งในการเฉลิมฉลองในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 โดยได้นำวัสดุคงเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นทองแดงหนักประมาณ 8 ก.ก. และเศษผงทองอีก 10.5 กรัม ผสมเป็นมวลสารจัดทำพระพุทธรูป เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 1 องค์ และจัดทำพระเครื่องปางลีลา ให้ประชาชนทั่วไปบูชา และนำรายได้ภายหลังหักค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ส่งดินทรายจากบริเวณใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ภายในวัด Kelaniya Raja Maha Viharaya และดอกมะลิแห้งจากแท่นบูชาพระเจดีย์ทองคำที่บรรจุพระธาตุเขี้ยวแก้วเพื่อใช้เป็นมวลสารศักดิ์สิทธิ์ในการจัดทำพระพุทธรูปและพระเครื่องปางลีลาดังกล่าวด้วย           

[1] พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เสด็จมาทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุในศรีลังกาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. พ.ศ. 2439 ที่วัด Sri Subhuti Maha Viharaya เมือง Waskaduwa โดย Ven. Rajguru Sri Subhuti Nayaka เจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระที่มีชื่อเสียงของศรีลังกาเป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงมีสมณนามว่า พระชินวรวงศ์ (Rev. Jinavaransa) แต่เป็นที่รู้จักกันในนามว่า Prince Priest (Gumara Hamuduruvo)