“พลายประตูผา” ไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วประจำปีนี้ โดยสถานทูตไทยจะหารือเพื่อสนับสนุนการปรับสภาพความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากช้างหายตกมัน

“พลายประตูผา” ไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วประจำปีนี้ โดยสถานทูตไทยจะหารือเพื่อสนับสนุนการปรับสภาพความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากช้างหายตกมัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ส.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ส.ค. 2566

| 758 view
“พลายประตูผา” ไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วประจำปีนี้ โดยสถานทูตไทยจะหารือเพื่อสนับสนุนการปรับสภาพความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากช้างหายตกมัน
 
นายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบไปเยี่ยม “พลายประตูผา” หรือ Thai Raja ที่วัดสุธุฮุมโปลลา (Suduhumpola) เมืองแคนดี ซึ่งเป็นสถานที่ที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้วนำมาแยกดูแลเชือกเดียวในช่วงที่ตกมัน โดยวัดสุธุฮุมโปลลาอยู่ห่างจากวัดพระธาตุเขียวแก้วประมาณ 2.5 กิโลเมตร 
 
ท่านทูตกรุณาให้ข้อมูลว่า สภาพทั่วไปของ “พลายประตูผา” เท่าที่เห็นภายนอก สมบูรณ์ดี  มีควาญหลักและควาญสำรองรวม 2 คนดูแล 
 
ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่า จะไม่ได้เข้าร่วมขบวนแห่ Esala Perahera 21-31 August 2023 เนื่องจากยังอยู่ระหว่างตกมัน
 
ควาญผูกตรึง 3 ขาของช้าง โดยขาหลังคล้องโซ่สั้นที่หุ้มด้วยยาง แล้วผูกไว้กับต้นไม้ ส่วนขาหน้าทั้ง 2 ข้างคล้องโซ่ยาว แล้วผูกไว้กับต้นไม้ ซึ่งการผูกค่อนข้างตึงพอควร 
 
ท่านทูตจึงถามควาญ ได้ความว่า ช้างสามารถล้มตัวลงนอนได้ แต่สาเหตุที่ไม่ผ่อนโซ่ให้ยาวกว่านี้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเอี้ยวตัวแล้วแว้งมาทำร้ายได้
 
ก่อนหน้านี้ท่านทูตพจน์ได้แจ้งแก่ไวยาวัจกรของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วแล้วว่า เมื่อช้างหายจากอาการตกมัน หวังว่า จะผ่อนโซ่ให้ช้างมีความเป็นอยู่ประจำวันอย่างธรรมชาติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยอยู่ รวมถึงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพพื้นที่ ภูมิทัศน์ และส่วนประกอบอื่นๆ ในบริเวณด้วยเช่น แหล่งน้ำ ถังน้ำให้ดีขึ้นด้วย โดยในอนาคตจะร่วมกันผลักดันให้สภาพความเป็นอยู่และการดูแล “พลายประตูผา” ดียิ่งขึ้นต่อไป 
 
ส่วนความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในด้านการดูแลรักษาพยาบาลช้าง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในสาขานี้ในอนาคต กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบเชิญสัตวแพทย์ 2 คน พร้อมทั้งภัณฑารักษ์ (หัวหน้าควาญ) ซึ่งดูแลรักษา “พลายศักดิ์สุรินทร์” โดยตลอดในช่วงที่พักพิงชั่วคราวที่สวนสัตว์เดฮิวาลา (Dehiwala) เดินทางมายังประเทศไทยประมาณต้นเดือนกันยายน 
 
สำหรับการเดินทางมาสัตวแพทย์และหัวหน้าควาญจะเป็นประโยชน์ต่อ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างเต็มรูปแบบในโรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง โดยสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้แจ้งว่า ในการรักษา “พลายศักดิ์สุรินทร์” นั้น สัตวแพทย์จะต้องคำนึงถึงลักษณะนิสัยช้าง พฤติกรรม และสุขภาพทั่วไปได้แก่ การกิน การดื่ม การขับถ่าย การนอน และ กิจวัตรประจำวัน ร่วมกับความเจ็บป่วยต่างๆ  รวมถึงสุขภาพจิตด้วย ดังนั้นสัตวแพทย์และหัวหน้าควาญของสวนสัตว์เดฮิวาลาซึ่งดูแลช้างมานานกว่า 6 เดือนจะได้ร่วมสังเกตการณ์และให้ความเห็นจากประสบการณ์ตรงในการดูแลรักษาด้วย
 
นอกจากนี้ยังจะได้พูดคุยเพื่อเตรียมการสำหรับการที่คณะผู้แทนไทยจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินทางไปหารือกับกรมการสวนสัตว์แห่งชาติ (National Zoological Department) และมหาวิทยาลัย Peradeniya ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีคณะสัตวแพทยศาสตร์เพียงแพ่งเดียวในศรีลังกาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับศรีลังกาในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงช้างต่อไป