สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ส่งเสริมการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยกับศรีลังกา

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ส่งเสริมการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยกับศรีลังกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 พ.ค. 2568

| 13 view

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายไพฑูรย์ มหาพัณณาภรณ์ เอกอัครรทูต ณ กรุงโคลัมโบ ได้กล่าวต่อที่ประชุมประจำปีของสภาธุรกิจไทย – ศรีลังกา (Sri Lanka – Thailand Business Council) ในหัวข้อ “โอกาสทางธุรกิจระหว่างไทยกับศรีลังกา” หรือ “Opportunities in Business Interactions between Thailand and Sri Lanka” ที่โรงแรม Ramada กรุงโคลัมโบ

ภายหลังการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาในปี 2568 คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ศรีลังกาจะต้องมองให้ไกลกว่าการลดภาษี ซึ่งหมายถึงการพัฒนาผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นที่ต้องการของประเทศไทย รวมทั้งเป็นผลิตผล/ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลก และจะต้องดึงดูดการลงทุนที่เน้นการส่งออกด้วยการทลายอุปสรรคเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจในศรีลังกา ตลอดจนต้องส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 

ประเทศไทยเองจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางในอุดมคติในด้านการลงทุน ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นมิตร โครงสร้างพื้นฐานที่ก้าวหน้า และสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมสำหรับธุรกิจทั้งด้านการผลิตและด้านบริการ

หลังจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา นักลงทุนศรีลังกาสามารถลงทุนเป็นเจ้าของในภาคการผลิตบางสาขาในประเทศไทย อาทิ การตกแต่งสิ่งทอ ยาง หัวรถจักร ในขณะที่นักลงทุนไทยสามารถลงทุนเป็นเจ้าของในภาคการผลิตบางสาขา อาทิ การแปรรูปผักและผลไม้ สิ่งทอ ยานพาหนะ ชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ เกี่ยวกับฟันและเวชภัณฑ์

ในการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจและการเอื้ออำนวยให้การบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา มีผลโดยสมบูรณ์นั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าซีลอน กำลังจัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า “โอกาสทางธุรกิจระหว่างไทยกับศรีลังกาในสาขาอาหาร เกษตร และสุขภาพ” ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ประเทศไทย

กิจกรรมประกอบด้วยการพบหารือกับประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การเข้าพบและเยี่ยมเยือนหน่วยงานและภาคส่วนด้านเกษตร อาหาร และสุขภาพ รวมทั้งการจับคู่ทางธุรกิจ ซึ่งทั้งสองประเทศสามารถสร้างเสริมความร่วมมือในลักษณะต่าง ๆ อาทิ การร่วมทุน การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เป็นต้น ระหว่างกันต่อไป 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ