04 พระไทยในศรีลังกา...ว้าเหว่

04 พระไทยในศรีลังกา...ว้าเหว่

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,052 view

 

(ภาพวาดฝาผนังที่วัดทีปทุตตมาราม)

วันที่ 3 มีนาคม 2555 เป็นวันและคืนที่ 12 พอดีที่ผมไปเหยียบย่างลงบนเกาะศรีลังกา ศรีมาตา ดินแดนที่ชื่อว่าสืบต่อพุทธศาสนามาช้านานไม่ขาดสายด้วยนิกายเถรวาท ในประวัติศาสตร์ก็มีพม่าและไทยที่ีอยู่ในฐานะเดียวกัน

สามประเทศกับ 1 ดินแดนพุทธภูมิ ประกอบกันเป็น 4 เสาหลักของพุทธศาสนาในโลกนี้ หลังจากที่มีการค้นพบพุทธโบราณสถานในอินเดีย ได้แก่พุทธคยา สารนาถ กุสินารา โดยเฉพาะพุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ ชาวพุทธทั่วโลกก็ต่างมุ่งหน้ามาดินแดนพุทธภูมิ ไม่ต่างจากชาวมุสลิมที่มุ่งหน้าไปเมกกะ

เป็นที่น่าเสียดายและถึงกับสังเวชที่พุทธโบราณสถานในอินเดียในอดีตนั้น ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างขาดการดูแลจนกระทั่งเมื่อมีการฉลองกึ่งพุทธกาล จึงมีการตื่นตัวดูแลพุทธโบราณสถานกัน และแม้ในปัจจุบันมีการดูแลแต่ก็เป็นชาวฮินดู ที่ดูแลพุทธสถาน ทำให้สภาพพุทธโบราณสถานเหล่านั้นไม่เป็นสถานที่สัปปายะสำหรับชาวพุทธเท่าใด นัก

ด้วยเรื่องราวที่อยู่ในประวัติศาสตร์ทำให้ดินแดนพุทธภูมิมีความสำคัญ เพราะเป็นหลักฐานเดียวที่ทำให้เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้ามีจริง พุทธกาลมีจริงและมีสภาพที่ยังพอหลงเหลือเค้าให้เห็นจริง ศรัทธาของชาวพุทธจึงสูงมาก กอร์ปกับรัฐบาลอินเดียก็เห็นความสำคัญของพุทธศาสนาจึงเปิดให้มีการเชื่อมโยง ไปยังประเทศพุทธทั้งหลาย เป็นที่มาของการฉลองพุทธชยันตี 2500 ปี กึ่งพุทธกาล จนกลายมาเป็นพุทธคยา เมืองพุทธโบราณสถานนานาชาติที่ประเทศต่างๆ ยินดีมาสร้างวัดของตนเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธ รวมทั้งของไทยที่ส่งพระธรรมทูตไปปฏิบัติหน้าที่ที่วัดไทยพุทธคยามานานกว่า 50 ปีแล้ว

ในส่วนของศรีลังกา ก็มีบทบาทสำคัญมาตั้งแต่อดีตในการเรียกร้องให้ชาวพุทธสามารถเข้าไปดูแลพุทธ โบราณสถานในอินเดีย จนกระทั่งสำเร็จ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลพุทธคยาโดยมีชาวพุทธอยู่ในองค์ประกอบของคณะ กรรมการด้วย แต่ก็นั้่นแหละเนื่องจากคนรอบพุทธโบราณสถานล้วนเป็นฮินดู ยังไงก็ไม่เข้าถึงความเป็นพุทธ

ออกจากอินเดียมาศรีลังกากันดีกว่า ศรีลังกาจากที่เคยอ่านข้อมูลต่างจากที่ได้มาประสบพบเห็นในเวลา 12 วันที่ผ่านมา พระสงฆ์อยู่เพื่อโปรดญาติโยมจริงๆ  คืออยู่วัดเพื่อรอให้ญาติโยมมาทำบุญที่วัด ผลก็คือพระไม่ออกบิณฑบาตร ญาตโยมมีหน้าที่มาทำบุญที่วัด ทุกวันพระใหญ่จะมีการบูชาที่วัด ก็เป็นงานใหญ่ของพระซึ่งมักจะมีไม่กี่องค์ในแต่ละวัด ก็จะเน้นหนักไปทางด้านการทำบุญ การสวดมนต์การบูชาและการเทศน์......บุญกริยาวัตถุ

พระสงฆ์ศรีลังกาอย่างน้อย 2-3 องค์ที่ผมพบและสนทนาในช่วง 10 วันที่ผ่านมาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พระต้องเรียนหนังสือ ต้องดูแลญาติโยม ไม่มีเวลาปฏิบัติ และส่วนใหญ่รู้จักแต่สมาธิแบบสมถะ ไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา วัดน้อยแห่งที่คุ้นเคยกับวิปัสสนา

พระสงฆ์ไทยที่บังเอิญไปจำพรรษาที่ศรีลังกา ซึ่งมีเพียงไม่กี่รูปกล่าวว่าพระไทยในศรีลังกาค่อนข้างว้าเหว่ ไม่เหมือนที่อินเดีย อบอุ่นกว่าเพราะมีพระไทยเยอะ ที่ศรีลังกามีพระไทยน้อย..มาก  จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้พระไทยไม่อยากมาศรีลังกาเพราะความแตกต่างในวิถี ของพระ แตกต่างจากบ้านเราค่อนข้างมาก.........ในทุกเรื่อง เช่น สวดก็สำเนียงไม่เหมือนกัน พิธีกรรมก็แตกต่างกัน ฉันก็แตกต่างกัน .........การมองเป้าหมายของการเป็นพระ ...ก็ต่างกัน ฯลฯ

พระองค์หนึ่งบอกว่าตั้งแต่มาอยุ๋ 2เดือนกว่า เพิ่งมีโอกาสฉันอาหารไทย เนื่องจากมีการจัดงานวันมาฆบูชาที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต...

น่าสนใจไหมครับ ที่ค้นพบเรื่องราวต่างๆ นี้ ขอเวลาสักพักที่จะเจาะลึกเพื่อที่จะได้ภาพที่สมบูรณ์เกี่ยวกับพระสงฆ์และ วิถีชาวพุทธในศรีลังกา ในสายตาของชาวพุทธไทย

ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ด้วยความปรารถนาดี